ใช้ Optical Power Meter วัดแสงที่มาจาก OLT ได้หรือไม่? แม่นยำแค่ไหน?

Ajarn WS
2 min readMar 14, 2022

--

เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ช่างหลายๆคนคงสงสัยกันมานานว่า…ในการติดตั้งหรือตรวจแก้เน็ตไฟเบอร์ เราใช้ Optical Power Meter (OPM) วัดแสงที่มาจาก OLT ได้หรือไม่? หรือต้องใช้เครื่องมือวัดแสงโดยเฉพาะที่เรียกว่า PON Power Meter (PPM) เท่านั้น ซึ่งในอดีตเครื่องมือนี้มีราคาแพงมาก แต่ปัจจุบันก็ลดลงอย่างมากแล้ว เรามาดูกันว่า PPM มันมีหลักการวัดอย่างไร? ทำอะไรได้บ้าง?

PON Power Meter Measurement

PON Power Meter เป็นเครื่องมือวัดที่ได้ออกแบบมาสำหรับโครงข่ายเน็ตไฟเบอร์แบบ PON (Passive Optical Network) โดยเฉพาะ ใช้วัดและวิเคราะห์กำลังแสง (Optical Power) ที่จุดเชื่อมต่อต่างๆ เช่น OLT, FDH, DP, ONT เป็นต้น ซึ่งมีคุณสมบัติดังนี้

  • รองรับมาตรฐาน APON, BPON, EPON และ GPON
  • มีการวัดแบบ Pass-Through Measurement — ทำให้วัดขณะที่อุปกรณ์ต้นทาง (OLT) และปลายทาง (ONT) กำลังทำงานได้
  • วัดกำลังแสงความยาวคลื่น 1490nm ที่มาจาก OLT
  • วัดกำลังแสงความยาวคลื่น 1550nm ที่มาจาก CATV (RF Video)
  • วัดกำลังแสงความยาวคลื่น 1310nm ที่มาจาก ONT
  • สามารถกำหนดเกณฑ์ในการประเมินผลการวัดได้ (Threshold Setting)

หากไม่มี PPM ใช้ OPM แทนได้หรือไม่?

แต่หากไม่มี PON Power Meter เราใช้ Optical Power Meter (OPM) แทนได้หรือไม่? เชื่อว่าหลายคนอาจสงสัย และหลายคนคงได้ลองใช้ไปแล้ว แต่อาจยังไม่รู้ว่าการใช้ OPM แทน PPM มันเป็นวิธีการที่ถูกต้องหรือไม่?

คำตอบก็คือมันอาจจะถูกก็ได้หรือผิดก็ได้ แต่ถ้าต้องการใช้ OPM ทดแทนอย่างถูกต้อง จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้…

1.ต้องการวัดและวิเคราะห์กำลังแสงจากอุปกรณ์ต้นทาง (OLT) เท่านั้น — เพราะการใช้ OPM จะไม่สามารถวัดแสงจากอุปกรณ์ปลายทาง (ONT) ได้ แต่ในทางปฏิบัติการวัดกำลังแสงจากอุปกรณ์ต้นทาง (OLT) ส่วนใหญ่ก็เพียงพอที่จะวิเคราะห์ปัญหาได้ระดับหนึ่ง

“OPM ไม่สามารถวัดแสงที่ส่งออกจาก ONT ได้ เนื่องจาก ONT จะหยุดส่งแสงหากไม่ได้รับแสงจาก OLT”

2.ต้องไม่มีระบบ CATV ให้บริการอยู่ด้วย — โดยอาจสังเกตจากอุปกรณ์ปลายทาง (ONT) ที่มีพอร์ตต่อสายอากาศเข้ากล่องทีวี ซึ่งในบ้านเราเท่าที่เห็นเหมือนจะมีบางเจ้าเดียวที่ใช้ระบบนี้

Courtesy of hdv-fiber.com

หากมีระบบ CATV ให้บริการร่วมด้วย ต้นทางจะมีการส่งแสงมา 2 ความยาวคลื่น คือ 1490nm และ 1550nm จะให้ไม่สามารถใช้ OPM วัดได้ (ในทางปฏิบัติจะวัดค่าออกมาได้แต่ แต่ค่าที่วัดได้จะผิดพลาด ไม่สามารถเชื่อถือได้)

คาดว่าคงมีบางคนถามต่อว่า “ก็ OPM มันสามารถตั้งค่า Wavelength ได้หนิ ก็ตั้งค่า 1490nm แล้ววัดค่า จากนั้นตั้งค่า 1550nm แล้ววัดค่า แค่นี้ก็ได้แล้ว” ขอบอกว่าค่าที่ได้ทั้งสองค่านี้มันผิดทั้งคู่ครับ เพราะการตั้งค่า Wavelength เป็นเพียงการตั้งค่า Calibrated Wavelength ซึ่งเครื่องจะนำไปใช้ในการคำนวณชดเชยเพื่อให้ได้ค่าผลลัพธ์ที่แม่นยำยิ่งขึ้น แต่กำลังแสงที่วัดก็ยังคงวัดทั้งสองความยาวคลื่นพร้อมๆกันอยู่ดีครับ ในขณะที่ PPM มันวัดได้ก็เพราะมันมี Filter แยกแสงครับ

มีความแม่นยำแค่ไหน?

หากใครถามหาความแม่นยำ ขอบอกตรงนี้ได้เลยว่า คงต้องคิดใหม่ เพราะอะไร?

  • เป็นการวัดกำลังแสงของระบบที่ใช้งานให้บริการ ซึ่งสัญญาณแสงที่มาจะเป็นลักษณะมอดดูเลชั่น (Modulation) ไม่ได้ส่งแบบต่อเนื่องคงที่ (Continuous Wave) เหมือนจาก Optical Light Source เวลาตรวจรับ
  • วัตถุประสงค์ในการวัดแบบนี้กำหนดมาเพื่องานตรวจแก้ (Troubleshooting) ไม่ใช่เพื่องานตรวจรับ
  • การวัดกำลังแสง 1490nm จาก OLT ด้วย OPM จะมีความแม่นยำกว่า PPM เนื่องจาก OPM เป็นการวัดแสงโดยตรง ส่วน PPM เป็นวัดทางอ้อม โดยแสงส่วนใหญ่จะวิ่งผ่านไป (Pass-Through) ทำให้เกิดการสูญเสียในตัวเครื่อง (Insertion Loss)

“การใช้อย่างถูกหลัก ปรับใช้อย่างเหมาะสม ก็สามารถทำให้เกิดประสิทธิภาพได้”

👨‍💼 Author: Ajarn WS | ⏱ Mar 14, 2022

⚠️ สงวนลิขสิทธิ์ อนุญาตให้แชร์ลิงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น ห้ามคัดลอก ดัดแปลง แก้ไข ก่อนได้รับการอนุญาต

📚 คลิกดูบทความที่เกี่ยวข้อง…

  1. ก้าวต่อไปของเทคโนโลยี xPON

--

--

Ajarn WS
Ajarn WS

Written by Ajarn WS

My broadband Knowledge and Experience Sharing for All

No responses yet